การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

“หายทรมานจากอาการปวดสะโพก กลับมาเดินได้ปกติอีกครั้ง”

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมคืออะไร?

คือการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ กระดูกตายหรือแตกหักออก และ
ทดแทนข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม

ภาพแสดงข้อสะโพกเทียมที่ทดแทนข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ

ควรพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเมื่อใด?

  1. ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม อักเสบ หรือกระดูกหัวสะโพกตายในระยะท้าย ที่รับการรักษา
    ด้วยการใช้ยาทำกายภาพบำบัด และปรับเปลี่ยนการใช้งานอย่างเต็มที่แล้วยังให้ผลการรักษาที่ไม่ดี โดย
    ยังมีลักษณะต่อไปนี้อยู่
  • ยังมีอาการปวดที่รุนแรงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ปกติ เช่น ยืน เดิน ลุก นั่ง
  • ลำบาก จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินตลอด
  • ข้อสะโพกยึดติด ขยับข้อสะโพกได้ไม่เต็มที่เหมือนปกติ
  • จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดอาการปวดทุกวัน หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาจนทำให้ไม่สามารถใช้ยาได้
  1. กระดูกสะโพกหักแล้วไม่สามารถรักษาด้วยวิธียึดดามกระดูกได้ หรือได้รับการยึดกระดูกที่
    หักด้วยวิธีอื่นแล้วล้มเหลว

ข้อสะโพกเทียมทำจากอะไร

ข้อสะโพกเทียมมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

  1. เบ้าสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ ยึดกับเบ้าสะโพกที่กระดูกเชิงกราน
  2. ส่วนผิวเบ้าสะโพก ทำมาจากพลาสติกชนิดพิเศษ ทำหน้าที่เป็นผิวสัมผัสกับหัวสะโพกเทียม
  3. ส่วนหัวสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ มีรูปร่างกลมคล้ายกับกระดูกหัวสะโพกเดิม
  4. ก้านสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ ยึดเข้าไปกับโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้น

วิธีการยึดข้อสะโพกเทียมกับกระดูก

มี 2 วิธีขึ้นอยู่กับสภาพกระดูกสะโพกของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

1. การใช้ซีเมนต์
ชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับยึดกระดูกกับข้อเทียม

2. การยึดข้อเทียมกับกระดูกโดยไม่ใช้ซีเมนต์ซึ่ง
กรณีนี้ข้อเทียมจะมีพื้นผิวแบบขรุขระ เนื้อกระดูกจะฝังตัวเข้าที่พื้นผิวนี้

ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ผู้ป่วยจะหายจากอาการเจ็บปวด มีข้อสะโพกที่มั่นคง เคลื่อนไหวได้ดี สามารถเดินและใช้งาน
ได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับปกติ ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 มีความพึงพอใจต่อการผ่าตัด

การผ่าตัด

ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงขึ้นกับความรุนแรงของโรค ภายใต้การให้ยาระงับ
ความรู้สึกทางสันหลัง แผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณด้านข้างของสะโพก แพทย์จะตัดเอาส่วนหัวของกระดูก
สะโพกออก เจียผิวของเบ้าสะโพกให้เรียบและมีรูปร่างที่เหมาะสม แล้วทำการใส่ข้อสะโพกเทียม
หลังจากผ่าตัดจะอยู่ที่ห้องพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจึงกลับไปยังห้องผู้ป่วย

การพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาล

ประมาณ 5-7 วัน เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและทำกายภาพบำบัด โดยจะให้เริ่มเคลื่อนไหวข้อ
และ ฝึกเดินในวันแรกหลังผ่าตัด เมื่อสามารถเดินและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างมั่นใจก็สามารถกลับ
บ้านได้

อายุมากและมีโรคประจำตัวสามารถผ่าตัดได้หรือไม่

ขึ้นอยู่กับการประเมินร่างกายก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายอย่าง
ละเอียด รวมทั้งตรวจการทำงานของปอด หัวใจ ตับ ไต ความเข้มข้นของเลือด เกล็ดเลือด ระดับน้ำตาล
เกลือแร่และโปรตีนในร่างกาย แล้วประเมินว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้หรือไม่เพื่อความปลอดภัย
สูงสุดของผู้ป่วย

ใครควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วย

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อที่ชำนาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน

แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย น้ำหนักตัว ระดับ
ของงานหรือกิจกรรมที่ทำ โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 15 – 20 ปี ถ้าได้รับการผ่าตัดและ
ติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและไม่มีภาวะแทรกซ้อน

หลังผ่าตัดสามารถกลับไปทำงานได้เมื่อไหร่

ขึ้นอยู่กับงานที่ทำ โดยเฉลี่ยสามารถเริ่มทำงาน ขับรถ เดินทาง และเริ่มออกกำลังหรือเล่นกีฬาที่ไม่
มีการกระแทกข้อเข่า เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกอล์ฟได้ประมาณ 6 -8 สัปดาห์หลังผ่าตัด

ทางเลือกใหม่ของผิวข้อ

ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตผิวสัมผัสของข้อให้มีความคงทนมากขึ้น สึกช้าลง ส่งผลให้อายุการใช้
งานของข้อยาวนานขึ้น เช่นการใช้เซรามิกหรือโลหะทำผิวเบ้าสะโพกเทียม หรือการใช้เซรามิกทำหัว
สะโพกเทียม