“ขยับก็เจ็บ ยืนก็เจ็บ เดินก็เจ็บ สัญญาณเตือนที่ควรรีบตรวจรักษา”
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
คือโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นและ การใช้งานมาก ผิวข้อที่สึกจะมีการขัดสีกัน ทําให้เกิดอาการปวดเข่าตามมา
มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
- อายุ พบข้อเข่าเสื่อมมากตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- เพศ พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย
- พันธุกรรม อาจมีคนในครอบครัวเป็นข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย
- ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวที่มากขึ้นทําให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับมากขึ้น
- การได้รับบาดเจ็บ เช่นการมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด หรือมีกระดูกผิวข้อแตก
อาการและอาการแสดงเป็นอย่างไร
- อาการปวด เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานและลดลงหลังจากพัก
- ข้อยึดติด เหยียดงอเข่าได้น้อยลง เคลื่อนไหวในชีวิตประจําวันลําบาก
- ข้อบวม อาจพบเป็นๆหายๆ เกิดจากเยื่อบุข้ออักเสบหรือมีการสร้างน้ำไขข้อมากขึ้น
- มีเสียงหรือความรู้สึกว่ากระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหวข้อ
- ถ้าเป็นรุนแรง ข้อจะผิดรูป ขาโก่ง
- ข้อหลวม รู้สึกไม่มั่นคงเวลายืนหรือเดิน
- กล้ามเนื้อรอบๆข้อมีขนาดเล็กลงและไม่มีแรง
มีวิธีการรักษาอย่างไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยจุดมุ่งหมายในการรักษาคือ ช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้หน้าที่การทํางานของข้อกลับคืน สู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ วิธีการรักษาจะ แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้ งานที่คาดหวัง และความพร้อมของผู้ให้การรักษา
การรักษามีแนวทางหลัก 2 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วย วิธีการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
1.การปรับเปลี่ยนการใช้งานในชีวิตประจําวัน ได้แก่
- การพักหรือใช้งานข้อให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า เช่น คุกเข่า พับเพียบ ยองๆ ขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ต่ำ
- หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได โดยไม่จําเป็น ถ้าจําเป็นควรเดินช้าๆและขึ้นลงทีละขั้น
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่าอยู่เรื่อยๆ
- นั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือใช้เก้าอี้ที่มีรูตรงกลางวางไว้เหนือคอห่านแทนการนั่งยองๆ ควรทําราวจับบริเวณโถนั่งเพื่อใช้ช่วยพยุงตัวเวลาจะนั่งหรือยืน
2.ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง
3. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน จะช่วยลดแรงที่เกิดกับข้อ ได้
4. ที่นอนควรมีความสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนบนพื้นเพราะจะปวดมากเวลาจะนอนหรือลูก
5. การประคบอุ่นบริเวณข้อเข่า ช่วยลดอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งได้
6. การสวมสนับเข่า ในกรณีที่ข้อเข่าเสียความมั่นคง จะช่วยกระชับข้อและลดอาการปวด
7. การทํากายภาพบําบัด ได้แก่ การฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ การเพิ่มหรือคงไว้ซึ่งพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย
8. การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ได้แก่
- ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
- ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต ช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกในข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น
- ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
- การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
- การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการ รักษาด้วยวิธีอื่น
การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
มีข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วให้ผลการรักษาล้มเหลว โดย ผู้ป่วยยังมีอาการที่รุนแรงอยู่จนไม่สามารถทํากิจวัตรประจําวันพื้นฐานได้ปกติ การผ่าตัดมีหลาย วิธี ได้แก่
- การล้างข้อโดยใช้วิธีการส่องกล้อง ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อนและเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก แต่งผิวข้อให้เรียบและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อใหม่
- การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา ใช้ในกรณีที่เป็นข้อเสื่อมซีกเดียวร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย เป็นการผ่าตัดปรับแนวของข้อและขาใหม่ ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มอายุการใช้งานของข้อ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไปและทดแทนด้วยผิวข้อเทียม เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการสึกของผิวข้ออย่างรุนแรง มีข้อผิดรูปหรือมีข้อยึดติดมาก