พังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทํางานทั่วๆ ไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักมีอาการปวด ตึง ชา บริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ
ลักษณะทางกายวิภาค
ภายในข้อมือของคนเราจะมีโพรงแคบๆคล้ายอุโมงค์เป็นที่ลอดผ่านของเส้นเอ็น เส้น เลือดและเส้นประสาท ซึ่งขอบของอุโมงค์ด้านล่างและด้านข้างจะเป็นกระดูกข้อมือหลายๆชิ้น ประกอบกัน ส่วนขอบบนจะคลุมด้วยพังผืด เส้นประสาทมีเดียนเป็นเส้นประสาทที่ทอดยาวมา จากต้นแขน ผ่านข้อมือเข้าไปในมือโดยลอดผ่านโพรงนี้
สาเหตุ
เกิดจากการที่เนื้อเยื่อรอบๆเส้นเอ็นข้อมือมีการบวมมากขึ้น ทําให้โพรงในบริเวณข้อมือ ตีบแคบมากขึ้น ส่งผลให้ความดันในข้อมือสูงขึ้น และไปกดเบียดเส้นประสาทมีเดียน
ปัจจัยเสี่ยง
- พันธุกรรม บางคนมีลักษณะทางกายวิภาคของโพรงข้อมือแคบกว่าคนทั่วไป
- การทํางานที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ เช่น พิมพ์คอมพิวเตอร์, กวาดบ้าน ถูบ้าน, ซักผ้า,ทํากับข้าว
- การที่ข้อมืออยู่ในท่ากระดกขึ้นหรือลงค้างไว้นานๆ เช่น การใช้เม้าส์, คุยโทรศัพท์, เล่นแทปเล็ต, ขับรถมอเตอร์ไซค์, ใช้มือค้ํายันหรือนอนพับข้อมือ
- ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์
- อายุ อายุมากขึ้นมีโอกาสที่จะเป็นได้มากขึ้น
- โรคบางอย่างเช่น เบาหวาน, รูมาตอยด์, ไทรอยด์
อาการ
ปวด ชาบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้ว โป้ง ชี้ กลาง และนิ้วนาง บางคนรู้สึกบวม ตึง อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักมีอาการเด่นในมือข้างที่ถนัด อาการมักจะค่อยเป็นค่อย ไป โดยทั่วไปสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่มักมีอาการมากขึ้นตอนกลางคืน เนื่องจากขณะหลับ มักมีการพับงอข้อมือ บางครั้งอาจตื่นขึ้นมาเนื่องจากอาการปวด ชา แต่เมื่อสะบัดข้อมือแล้ว อาการจะดีขึ้น ส่วนในช่วงกลางวันมักมีอาการในขณะที่มีการใช้ข้อมือมากหรืออยู่ในอิริยาบถที่ ข้อมือพับงอเป็นเวลานาน อาการเหล่านี้มักเป็นๆหายๆ แต่เมื่อนานเข้าอาจจะเป็นตลอดเวลา
นอกจากนี้ อาจมีอาการอ่อนแรงของมือและนิ้วได้ เช่น กํามือได้ไม่แน่น หยิบจับของ แล้วหล่นง่าย ถ้าไม่รีบรักษาจะสังเกตเห็นกล้ามเนื้อในมือฝ่อลีบ
การวินิจฉัย
โดยทั่วไปสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ ในบางกรณี ที่อาการไม่ชัดเจน อาจต้องตรวจการนําไฟฟ้าของเส้นประสาทเพื่อใช้ช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือ ใช้แยกโรคบางอย่างที่มีอาการคล้ายๆกัน
การรักษา
มีสองวิธีหลักคือ
- การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด
- การรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว สามารถรักษาได้โดยการไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
- ทานยาแก้ปวด, ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และวิตามินบํารุงเส้นประสาท
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทํางาน เช่นลดการทํางานที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ หลีกเลี่ยงท่าทาง ที่ต้องพับข้อมือขึ้นหรือลงเป็นระยะเวลานาน
- ใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือหรือเฝือกอ่อน ช่วยให้ข้อมือไม่พับงอทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
- กายภาพบําบัด เช่น การทําอัลตราซาวน์, การบริหารมือ, การประคบอุ่นหรือแช่น้ำอุ่น
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อมือ เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท
การรักษาโดยการผ่าตัด
ในผู้ที่มีอาการค่อนข้างมาก ถ้ารักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วได้ผลไม่ดี การผ่าตัดพังผืด จะช่วยลดการกดทับเส้นประสาทได้ การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็ก แผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 – 1.5 ซม. ทําโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 15 ถึง 20 นาที และไม่ต้องนอน โรงพยาบาล หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถขยับมือ และใช้งานเบาๆ ได้เลย อาการต่างๆมักจะ หายไปในช่วงเวลาอันสั้น อาจจะมีอาการเจ็บบริเวณแผลผ่าตัดบ้างเล็กน้อยจนกว่าแผลจะหาย